More

    งานเข้า?! ขึ้นทางด่วน…ไม่มีตังจ่าย!!

    สังคมไร้เงินสด หลายคนอาจจะเคยชินกับการโอนจ่าย สแกนจ่าย จนลืมไปแล้วว่าพกเงินสดล่าสุดเมื่อไหร่ จนกระทั่งขับรถเข้าช่องทางด่วนและดันไม่มีเงินจ่ายซะงั้น ไปต่อก็ไม่ได้ ถอยออกก็ไม่ได้ ทำไงดีหละทีนี้ ในเมื่อเจอเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดแบบนี้แล้ว วันนี้ Car2day มาขอเสนอวิธีแก้ปัญหานี้เอาไว้ให้แล้วค่ะ 

    หลายคนน่าจะเคยเจอกับประสบการณ์นี้กันมาบ้างแล้ว กับการขึ้นทางด่วนแล้วไม่มีเงินจ่าย อาจจะเพราะสาเหตุจากการลืมกระเป๋าสตางค์ เงินสดไม่พอ แต่รู้หรือไม่ว่าปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่แต่อย่างใด  คุณจะยังคงสามารถผ่านด่านทางด่วนไปได้ โดยไม่ต้องเสียเงินทันที แต่ทางเจ้าหน้าที่เก็บค่าผ่านทางจะสอบถามข้อมูลรถ ข้อมูลส่วนบุคคล และรายงานไปทางเจ้าหน้าที่ในสำนักงานของด่านเก็บเงิน เพื่อเก็บข้อมูลของรถคุณและตัวคุณ สำหรับใช้เป็นหลักฐาน และจะให้คุณสามารถกลับมาจ่ายเงินได้ในภายหลัง ในระยะเวลา 7 วัน ที่ด่านเดิม เพื่อชำระค่าติดค้างเอาไว้

    แต่ในเมื่อแก้ปัญหานี้ได้แล้ว ถ้าหากคุณคิดจะเบี้ยวไม่จ่ายค่าผ่านทาง หรือลืมไม่รับผิดชอบสิ่งนี้ คุณจะต้องเสียค่าปรับเพิ่ม เพราะทางสำนักงานได้เก็บข้อมูลเอาไว้เรียบร้อยแล้ว รวมถึงกล้องวงจรปิดมัดตัว มาดูกันว่าหากไม่มาชำระค่าผ่านทางในภายหลังจะต้องเจอค่าปรับเท่าไรกันบ้าง

    • กรณีค้างชำระค่าทางด่วนในความดูแลของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (EXAT) จะมีโทษปรับ 2,000 บาท ตาม พ.ร.บ. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 63
    • ส่วนหลวงสัมปทาน อยู่ในบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ทางหลวงสัมปทาน 2542 ในมาตรา 33 หากมีเจตนาที่จะไม่จ่ายค่าผ่านทาง จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10 เท่า ของค่าผ่านทาง
    • หากค้างชำระทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ภายใต้การดูแลของกรมทางหลวง จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10 เท่าของค่าผ่านทางตามที่ พ.ร.บ. กำหนด ค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงและสะพาน 2497 มาตรา 7

    ทางด่วนในประเทศไทยมีทั้งหมด 3 รูปแบบ คือ

    • ทางด่วนที่ดูแลโดยการทางพิเศษ เช่น ทางด่วนขั้นที่ 1 ,2
    • ทางหลวงสัมปทาน เช่น ทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ (ซึ่งปัจจุบันมีที่เดียวเท่านั้น)
    • ทางหลวงพิเศษ เช่น มอเตอร์เวย์

    ในกรณีที่ลืมชำระ จนกระทั่งได้รับหนังสือที่ออกโดย กทพ. แจ้งให้มาชำระค่าผ่านทางฯ ให้ผู้ใช้บริการนำหนังสือที่ได้รับยื่นให้หัวหน้าพนักงานเก็บค่าผ่านทางพิเศษที่อาคารด่านฯ เพื่อชำระค่าผ่านทางฯ ที่ด่านที่สะดวกที่สุดได้ทุกด่านฯ

    แต่ปัจจุบันก็มีหลายด่านที่อนุมัติให้ใช้บัตรเครดิตและบัตรเดบิตไว้สำหรับจ่ายค่าผ่านทางได้แล้ว และบางด่านก็ได้ทำการปิดระบบการใช้ไปบ้างแล้ว เพราะฉะนั้นก็เตรียมศึกษาเอาไว้เสียก่อนสำหรับกรณีฉุกเฉินนะคะ

    แค่นี้ก็หมดกังวลกับการไม่มีเงินจ่ายค่าทางด่วนในวันเร่งด่วน หรือวันที่ลืมจริง ๆ กันแล้วนะคะ แต่ในเมื่อทางเจ้าหน้าที่ใจดีให้เราจ่ายได้วันหลังแล้ว ก็อย่าลืมกลับไปชำระกันด้วย จะได้ไม่ต้องเสียค่าผ่านทางบวกค่าปรับอีกหลายเท่านะคะ


    บทความอื่น ๆ

    ABOUT THE AUTHOR

    Latest Posts