More

    ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเท่าไหร่ ถึงโดนจับ “เมาแล้วขับ”

    สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน หนึ่งในนั้นคือการดื่มเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์จนเมาแล้วฝืนขับรถ ซึ่งการเมาแล้วขับนั้นเป็นสิ่งที่รัฐรณรงค์ไม่สนับสนุน และมีการออกบทลงโทษออกมาไม่น้อย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีผู้คนมากมายฝ่าฝืนจนก่อให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำแล้วซ้ำเล่า

    แล้วถ้าหากเรามีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ยังไม่รู้สึกว่าเมาล่ะ? ตำรวจจะมีสิทธิจับเราหรือไม่? คำตอบคือ เกณฑ์ในการจับลงโทษผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นไม่ได้ใช้ความรู้สึก แต่ใช้ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเป็นตัวชี้วัด

    ตาม กฎกระทรวงฉบับที่ 21 พ.ศ. 2550 ออกความใน พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ระบุว่า ถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะถือว่าคนผู้นั้นเมาสุรา ยกเว้นผู้ขับขี่ใน 4 กรณีต่อไปนี้ ถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะถือว่าคนผู้นั้นเมาสุรา คือ

    • ผู้ขับขี่ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์
    • ผู้ขับขี่ที่มีใบขับขี่ชั่วคราว (ใบขับขี่อนุญาตแบบ 2 ปี)
    • ผู้ขับขี่ที่มีใบขับขี่ประเภทอื่น ซึ่งใช้แทนกันไม่ได้
    • ผู้ขับขี่ที่ถูกยกเลิกใบขับขี่ หรืออยู่ระหว่างการพักใช้งานใบขับขี่

    เมาแล้วขับ

    สำหรับบทลงโทษหากคุณถูกจับข้อหาเมาแล้วขับ ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 มีดังนี้

    • เมาแล้วขับ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกสั่งพักใช้ใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือยกเลิกใบอนุญาตขับขี่
    • เมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ จำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท และถูกสั่งพักใช้ใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือยกเลิกใบอนุญาตขับขี่
    • เมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บสาหัส จำคุกตั้งแต่ 2-6 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000-120,000 บาท และถูกสั่งพักใช้ใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือยกเลิกใบอนุญาตขับขี่
    • เมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต จำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี ปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท และยกเลิกใบอนุญาตขับขี่ทันที

    นอกจากนั้นการเมาแล้วขับจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย ประกันรถยนต์ที่คนผู้นั้นทำไว้อาจจะ ไม่คุ้มครอง ด้วยเช่นกัน ซึ่งมันมีเงื่อนไขที่ถูกกำหนดไว้ ดังนี้

    สำหรับ พ.ร.บ.รถยนต์ จะคุ้มครองผู้เอาประกันรถยนต์และคู่กรณี โดยไม่พิสูจน์ความถูกหรือผิด ซึ่งจะจ่ายเป็นค่าสินไหมทดแทนสำหรับค่ารักษาพยาบาล แต่จะไม่ชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ของผู้เอาประกัน

    สำหรับประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ

    • ถ้าแอลกอฮอล์ในเลือดไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ประกันรถยนต์จะคุ้มครองทั้งผู้เอาประกันและฝ่ายที่เสียหาย
    • ถ้าแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ประกันรถยนต์จะไม่คุ้มครองผู้เอาประกัน แต่จะยังคงคุ้มครองฝ่ายที่เสียหายตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ที่ซื้อไว้ ซึ่งบริษัทประกันจะไล่เบี้ยค่าเสียหายทั้งหมดจากผู้เอาประกันเพื่อนำไปชดใช้ให้ผู้เสียหายในลำดับถัดไปอีกด้วย

    อ้างอิง : tidlor.com


    บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

    ABOUT THE AUTHOR

    Latest Posts