More

    ปรับจริง!! ชัชชาติ Softpower คนเริ่มแจ้ง “แท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร (Taxi) ” ปรับจบรับส่วนแบ่ง

    จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์คลิประบุว่าเจอ “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. โดยในคลิปปรากฏภาพนายชัชชาติ และทีมงานกำลังเรียกแท็กซี่ เมื่อแท็กซี่จอดรับ กลับปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร  ทำให้มีการตีความไปต่าง ๆ นานาตามคลิป ว่า “ขนาดท่านผู้ว่าฯ ที่แข็งแกร่งที่สุดยังโดนแท๊กซี่ปฎิเสธ” ทำให้มีหลายคนสนใจในประเด็นของแท็กซี่ปฎิเสธผู้โดยสารกันมากขึ้น ว่าจะมีการแก้ปัญหานี้อย่างไร

    ซึ่งหลังจากที่มีการเผยแพร่คลิปออกไป ท่านผู้ว่าคนใหม่ ก็ได้ออกมาชี้แจงในประเด็นดังกล่าวแล้วว่า เป็นการเข้าใจผิด โดยท่านชัชชาติระบุเรื่องราวที่แท้จริงว่า

    จากคลิปเมื่อคืนที่มีการส่งต่อกันมาก ว่าผมถูกปฏิเสธจากพี่คนขับแท็กซี่ ขออธิบายว่าไม่เป็นความจริงนะครับ รถแท็กซี่กำลังรอลูกค้าจาก Grab พี่คนขับเข้าใจผิดว่าผมเป็นคนเรียก ผมจึงต้องลงแล้วรอเรียกคันใหม่ พี่คนขับให้เกียรติผมเป็นอย่างดีครับ

    อีกทั้ง เพจเฟซบุ๊ก Smart Taxi.,Ltd  ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า “คนขับแจ้งว่าเพิ่งจอดรถกำลังจะโทรหาลูกค้าครับ พอท่านเปิดรถขึ้นมาก็เข้าใจว่าท่านเป็นลูกค้าแอป พอรู้ว่าไม่ใช่ก็เลยรีบแจ้งครับ ข้อมูลที่สอบถามมาประมาณนี้ครับ”

    กฎหมายว่าด้วยเรื่อง แท็กซี่ปฎิเสธผู้โดยสาร

    • ข้อปฏิบัติตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522

    1) ในขณะอยู่ในระหว่างการรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร ผู้ขับขี่รถแท็กซี่จะปฏิเสธ ไม่รับจ้างคนโดยสารมิได้ เว้นแต่การบรรทุกนั้นน่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ตนหรือแก่คนโดยสาร (มาตรา 57 จัตวา) กรณีฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

    2) ต้องพาคนโดยสารไปยังสถานที่ที่ว่าจ้างตามเส้นทางที่สั้นหรือถึงที่หมายเร็วที่สุด หรือเส้นทางที่ไม่อ้อมเกินควร และต้องส่งคนโดยสาร ณ สถานที่ตามที่ตกลงกันไว้ โดยห้ามมิให้ พาคนโดยสารไปทอดทิ้งระหว่างทางไม่ว่าด้วยประการใด ๆ (มาตรา 57 เบญจ) กรณีฝ่าฝืน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

    3) ในขณะขับรถต้อง (มาตรา 57 ฉ)

    – ไม่สูบบุหรี่ หรือกระทําด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่ก่อความรําคาญให้แก่ คนโดยสาร กรณีฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

    – ไม่กล่าววาจาไม่สุภาพ เสียดสี ดูหมิ่น ก้าวร้าว หรือแสดงกิริยาในลักษณะ ดังกล่าวต่อคนโดยสาร กรณีฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

    – ไม่เสพหรือเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น กรณีฝ่าฝืนต้องระวางโทษจําคุก ไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 10,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

    – ไม่เสพยาเสพติดให้โทษ กรณีฝ่าฝืนต้องระวางโทษสูงกว่าที่กําหนดไว้ใน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษอีก 1 ใน 3

    – ไม่เสพติดวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท กรณีฝ่าฝืนต้องระวางโทษสูงกว่า ที่กําหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทอีก 1 ใน 3

    – ไม่ขับรถในขณะที่หย่อนความสามารถในอันที่จะขับ กรณีฝ่าฝืนต้องระวางโทษ จําคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึงหนึ่ง 10,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

    – ต้องปฏิบัติตามข้อกําหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร

    •  ข้อปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522

    1) ห้ามปฏิเสธไม่รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร เว้นแต่การบรรทุกนั้นน่าจะก่อให้เกิด อันตรายแก่ตนหรือคนโดยสาร กรณีที่ประสงค์จะไม่รับจ้างบรรทุกคนโดยสารให้แสดงป้ายงดรับจ้าง บรรทุกคนโดยสาร (มาตรา 93) กรณีฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

    2) ห้ามรับบรรทุกคนโดยสารเกินจํานวนที่กําหนดไว้ในใบอนุญาต (มาตรา 94) กรณีฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

    3) ห้ามเรียกให้คนขึ้นรถแท็กซี่โดยส่งเสียงอื้ออึงหรือในลักษณะที่ก่อความรําคาญ แก่คนโดยสารหรือผู้อื่น รวมทั้งห้ามต้อน ดึง เหนี่ยว หรือยึดยื้อคนหรือสิ่งของเพื่อให้ขึ้นรถแท็กซี่ (มาตรา 95) กรณีฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

    4) ห้ามเรียกเก็บค่าโดยสารเกินอัตราที่ปรากฏจากมาตรแท็กซี่ (มาตรา 96) กรณีฝ่าฝืน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

    5) ในขณะขับรถ (มาตรา 99)

    – ห้ามสูบบุหรี่เปิดวิทยุหรือกระทําด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่ก่อความรําคาญ ให้แก่คนโดยสาร

    – ห้ามยื่นมือ แขน หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายออกนอกรถ เว้นแต่ เป็นการกระทําเพื่อให้สัญญาณ

    – ห้ามจับคันบังคับรถด้วยมือเพียงด้านเดียว เว้นแต่มีเหตุจําเป็น

    – ห้ามใช้เสียงสัญญาณเมื่อเข้าในบริเวณโรงพยาบาล สถานที่ทํางาน หรือ สถานศึกษา

    – ห้ามใช้เสียงสัญญาณแตรเพื่อเร่งรถคันอื่น หรือแซงหรือตัดหน้ารถอื่น ในลักษณะฉวัดเฉวียนเป็นที่น่าหวาดเกรงว่าจะเกิดอันตราย

    – ห้ามรับคนโดยสารภายในบริเวณที่เจ้าพนักงานจราจรได้กําหนดเครื่องหมาย จราจรห้ามรับคนโดยสาร และห้ามขับรถเข้าในบริเวณบ้านของผู้อื่น

    – ห้ามกล่าววาจาไม่สุภาพ เสียดสี ดูหมิ่น ก้าวร้าว หรือแสดงกริยาดังกล่าว ต่อคนโดยสารหรือผู้อื่น กรณีฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

    แต่ทั้งนี้ พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ใช้บังคับมาเป็นเวลานานพอสมควร ซึ่งกรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพกาลปัจจุบัน โดยในประเด็นการแก้ไขอัตราโทษตามที่มีการนำเสนอข่าวเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2562 เป็นแนวคิดในการแก้กฎหมายต้องพิจารณาระบบโทษในกฎหมายให้สัมพันธ์กันทั้งระบบโดยการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 อยู่ระหว่างดำเนินการยังไม่มีผลใช้บังคับแต่อย่างใด

    บทสรุป

    ทั้งนี้ ประชาชนที่ใช้บริการรถสาธารณะ สามารถแจ้งเบาะแสการกระทำความผิด และได้รับส่วนแบ่งตามระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนรางวัล เมื่อมีการตรวจสอบและดำเนินการเปรียบเทียบปรับหรือคดีถึงที่สุดแล้ว ส่วนผู้ที่แจ้งเบาะแสได้ส่วนแบ่งตามระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนรางวัล หลังจากหักเป็นเงินนำส่งรายได้แผ่นดินแล้ว


    บทความอื่น ๆ

    ABOUT THE AUTHOR

    Latest Posts